กองทุนคุ้มครองเด็ก
การขอรับเงินสนับสนุนกองทุนคุ้มครองเด็ก
การขอรับเงินสนับสนุนกองทุนคุ้มครองเด็กรายบุคคล / การปฏิบัติในการขอรับเงินสนับสนุนกองทุนคุ้มครองเด็ก รายโครงการ
คู่มือการขอรับการสนับสนุนโครงการจากกองทุนคุ้มครองเด็ก
ลักษณะของโครงการหรือกิจกรรมตามกรอบทิศทางในการจัดสรรเงินกองทุนคุ้มครองเด็ก
1. การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน
กิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ควรเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ทั้งที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และเป็นปัญหาที่เกิดในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง หรือประเด็นปัญหาต่างๆ ดังนี้
1.1 การป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่
1.2 การส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชนเป็นองค์กรที่เข้าร่วมแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ
1.3 การส่งเสริมให้ชุมชน สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่
2. การพัฒนาเด็กและเยาวชน
กิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ควรเป็นการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยมีคุณลักษณะ ดังนี้
2.1 มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม และมีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบตามวัย
2.2 มีทักษะชีวิต รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และมีทักษะในการป้องกันตนเองจากปัญหาสังคม
3. การสร้างหรือการ พัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก
กิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ควรเป็นการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบคุ้มครองเด็กในพื้นที่ ซึ่งได้แก่การทำกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ ดังนี้
3.1 การจัดทำแผนข้อมูลเด็กกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เพื่อให้รับทราบภารกิจของจังหวัดหรือชุมชนที่จะต้องดูแลเด็ก
3.2 การจัดทำแผนบูรณาการด้านการคุ้มครองเด็กซึ่งเป็นแผนที่เกิดจากการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนในพื้นที่
3.3 การสร้าง/การพัฒนาระบบงาน เพื่อให้มีการช่วยเหลือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทารุณกรรม ถูกนำไปแสวงผลประโยชน์ อย่างเป็นระบบ
3.4 การพัฒนาทีมสหวิชาชีพและบุคลากรผู้ทำงานด้านเด็กให้มีองค์ความรู้ และทักษะในการปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
3.5 การส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็ก
3.6 การสร้าง/การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังปัญหาเด็กในชุมชน
3.7 การติดตามและประเมินผล การดำเนินงานคุ้มครองเด็ก ทั้งในเชิงประเด็น เชิงระบบ และรายกรณี
4. การส่งเสริมศักยภาพครอบครัวเพื่อการดูแลบุตรอย่างเหมาะสม
กิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ควรเป็นการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมศักยภาพครอบครัว เพื่อการเลี้ยงดูบุตรในประเด็นต่างๆ ดังนี้
4.1 การให้ความรู้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครองให้มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก แต่ละช่วงวัย การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กแต่ละช่วงวัย การเลี้ยงดูเด็กที่ต้องการ การดูแลเป็นพิเศษ เช่น เลี้ยงเด็กที่มีพัฒนาการช้า เด็กพิการ เด็กที่มีปัญหาด้านจิตเวช เป็นต้น
4.2 การให้ความรู้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความผาสุก และความเป็นอยู่ที่เหมาะสม
4.3 การจัดกิจกรรมให้เด็กและครอบครัวให้มีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกระชับสัมพันธภาพในครอบครัว
4.4 การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลไก หรือการจัดบริการให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวที่ประสบปัญหาในการเลี้ยงดูบุตร
4.5 การพัฒนาศักยภาพครอบครัวให้รู้เท่าทัน ความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อเด็กและเยาวชน และเพื่อให้สามารถปรับบทบาทของครอบครัวให้สามารถเลี้ยงดูบุตรอย่างเท่าทันยุคสมัย
4.6 การส่งเสริมให้ครอบครัวมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับ โรงเรียน วัด และชุมชน เพื่อใช้กิจกรรมเป็นเครื่องอบรมขัดเกลา และพัฒนาเด็ก รวมทั้งสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว
5. การส่งเสริมศักยภาพองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นในการคุ้มครองเด็ก
กิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ควรเป็นการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ได้สร้างระบบดูแลคุ้มครองเด็กในพื้นที่รับผิดชอบ กิจกรรมและโครงการที่ควรให้การสนับสนุนส่งเสริม ได้แก่
5.1 การทำกิจกรรมหรือโครงการที่มีการบูรณาการปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายในพื้นที่ เช่น การพัฒนาศักยภาพของทีมสหวิชาชีพในชุมชน เพื่อการคุ้มครองเด็ก การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ
5.2 การจัดตั้งกลไกต่างๆ เพื่อการคุ้มครองเด็กและครอบครัว เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุ ศูนย์ประสานการดำเนินงานด้านเด็กและครอบครัว ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรี ที่ถูกกระทำความรุนแรง เป็นต้น
5.3 การส่งเสริมองค์กรด้านเด็กและครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้มีบทบาทดูแลเด็กและครอบครัวในชุมชน เช่น การส่งเสริมความเข้มแข็งแก่สภาเด็กและเยาวชน การส่งเสริมความเข้มแข็งแก่กลุ่มต่างๆที่ตั้งโดยเด็กและเยาวชน เพื่อทำกิจกรรมในเชิงบวก
5.4 การทำกิจกรรม เพื่อตรวจตราสถานที่เสี่ยงสำหรับเด็ก ได้แก่ การออกตรวจตราสถานบันเทิง แหล่งอบายมุข ร้านเกมส์ ร้านคาราโอเกะ สวนสาธารณะ ฯลฯ โดยบูรณาการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และภาคประชาชน
5.5 การทำกิจกรรม เพื่อเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึง ความคิดเห็นและสภาพปัญหา รวมทั้งเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ให้แก่เด็กได้ทำกิจกรรมในเชิงบวก
5.6 การจัดทำฐานข้อมูลเด็กกลุ่มต่างๆในชุมชน เพื่อจัดทำแผนคุ้มครองเด็กของชุมชน
6. การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก
กิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ควรเป็นการดำเนินการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในการคุ้มครองเด็ก ดังนี้
6.1 การสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนัก เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารสถานศึกษา ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บุคลากรด้านสาธารณสุข ฯลฯ รับทราบบทบาทตามที่กฎหมายกำหนด และมีส่วนร่วมเฝ้าระวังปัญหาเด็กในชุมชน
6.2 ผลักดันสื่อประเภทต่างๆที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสถานการณ์ เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก เพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างกระแสให้สังคม ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองเด็กในชุมชน
7. สนับสนุนโครงการเป็นค่าความจำเป็นพื้นฐาน
เป็นการสนับสนุนงบประมาณให้สถานสงเคราะห์ที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนในด้านงบประมาณในการเลี้ยงดูเด็ก โดยลักษณะกิจกรรมและโครงการที่ขอรับการสนับสนุน ได้แก่
– ค่าใช้จ่ายในการจัดที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหารและของใช้ที่จำเป็นตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ