กองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน
      กองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นหน่วยงานในกำกับของกองต่อต้านการค้ามนุษย์กระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และให้การสนับสนุนงบประมาณในการ
จัดทำโครงการด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเริ่มแรกในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยผลจากนโยบาย  แห่งรัฐที่ให้ความสนใจและตระหนักในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้เกิดการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเจตนารมณ์สำคัญของกฎหมายดังกล่าวต้องการที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีความหมายรวมตั้งแต่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการรวมถึงการป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรม
  
 เป้าประสงค์/เป้าหมาย
      1. กลุ่มเป้าหมายมีศักยภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
     2. เครือข่ายมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
     3. องค์กรสมรรถนะสูง
  
วิสัยทัศน์
      “สังคมเข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ภายในปี 2564″
  
พันธกิจ
      1. สนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
     2. บูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน
     3. ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
  
ค่านิยม
      “อุทิศตน อาสางาน เอื้ออาทร อำนวยประโยชน์สุข”
  
 ผู้มีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากกองทุน แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
      1. ประเภทบุคคล > > ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
      2. ประเภทโครงการ >> สนับสนุนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเอกชน
      3. เงินรางวัลและค่าตอบแทนในการนำจับและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ >> เงินรางวัลจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานสืบสวน
หรือจับกุม และพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดฐานค้ามนุษย์ และค่าตอบแทนจ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับจนนำไปสู่การจับกุม
ตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในความผิดฐานค้ามนุษย์
  
 การให้การสนับสนุนของกองทุน
      1. ประเภทบุคคล ในกรณีดังต่อไปนี้
           – การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
          – การคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
          – การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในต่างประเทศให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถิ่นที่อยู่
      ► เกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
 
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท และจะช่วยได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อรายต่อปี
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยอ้างอิงจากหลักฐานทางการแพทย์ ทั้งนี้ ให้รวมถึงค่าตรวจสุขภาพเพื่อนำไปขออนุญาตทำงาน (Work Permit) และค่าตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคติดต่อ ก่อนเข้ารับการคุ้มครอง
      **ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าพาหนะ และค่าอาหารระหว่างติดต่อรักษาพยาบาล ให้จ่ายไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางการแพทย์
     ♦ ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติให้จ่ายในอัตราวันละไม่เกิน 300 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาทและช่วยเหลือไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อรายต่อปี
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่พักตามความเหมาะสม
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาหรือฝึกอบรม
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และให้รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พัก ค่าพาหนะและค่าอาหารในการไปให้การหรือเบิกความเป็นพยานในความผิดฐานค้ามนุษย์
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการส่งกลับไปยังประเทศเดิมหรือภูมิลำเนาของผู้เสียหายนั้น
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้เสียหายในต่างประเทศให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถิ่นที่อยู่
     ♦ ค่าใช้ในการส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุมัติค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่คณะกรรมการกำหนด
     ♦ ค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานของผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
     ♦ ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเป็นเงินทุนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายกลับเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ซ้ำ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
     ♦ ค่าใช้จ่ายกรณีอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอนุมัติเป็นการเฉพาะราย
      2. ประเภทโครงการ
    สนันสนุนการดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยหน่วยงาน/องค์กร
จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
 – หน่วยงานภาครัฐ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
– องค์กรเอกชน เป็นองค์กรที่บุคคลรวมกันขึ้นและได้จดทะเบียนด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม
การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
      ► ลักษณะโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนได้แก่โครงการลักษณะดังนี้
       กรณีเป็นหน่วยงานภาครัฐ ต้องเป็นโครงการที่ริเริ่มใหม่ (Initiative Program) หรือเป็นโครงการที่ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณปกติได้ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
      กรณีเป็นองค์กรเอกชน ต้องเป็นโครงการที่มีการดำเนินงานมาแล้ว ซึ่งมีทุนอยู่บางส่วนหรือเป็นโครงการริเริ่มใหม่ ทั้งนี้ โครงการนั้นต้องไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนราชการหรือแหล่งทุนอื่น หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
      ♦ โครงการที่ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
      ♦ โครงการพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหาย
      ♦ โครงการที่ดำเนินงานทางกฎหมายและการปราบปราม
      ♦ โครงการฟื้นฟูเยียวยาและการคืนสู่สังคม
      ♦ โครงการจัดทำและพัฒนาระบบข้อมูล การติดตามและการประเมินผล
      ♦ โครงการพัฒนากลไกการบริหารงานและการจัดการในด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
      ♦ โครงการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
      ♦ โครงการที่มีวัตถุประสงค์และกระบวนการในการดำเนินงานชัดเจน มีผลต่อการแก้ไขปัญหาการ ช่วยเหลือ หรือการคุ้มครองสวัสดิภาพ
ผู้เสียหายหรือการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
      ♦ โครงการที่เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของบุคคล หรือหน่วยงาน หรือประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการช่วยเหลือ หรือการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย หรือการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
      ♦ โครงการอื่นตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กำหนด
      **ทั้งนี้ลักษณะโครงการจะต้องมีวัตถุประสงค์และกระบวนการในการดำเนินงานชัดเจน มีผลต่อการแก้ไขปัญหาการช่วย
เหลือหรือการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย หรือการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของ
บุคคล หรือหน่วยงาน หรือประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการช่วยเหลือหรือการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย หรือการ
ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
      3. เงินรางวัลและค่าตอบแทนในการนำจับและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
      ► เงินแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
     ♦ เงินรางวัล จ่ายให้แก่เจ้าพนักงานสืบสวนหรือจับกุม และพนักงานสอบสวนผู้ต้องหา หรือจำเลยในความผิดฐานค้ามนุษย์
     ♦ ค่าตอบแทน จ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับจนนำไปสู่การจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดฐานค้ามนุษย์ 
 เกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลและค่าตอบแทน
     3.1 คดีความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 ที่มีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52 หรือมาตรา 53 คดีหนึ่งไม่เกินส่วนละ 100,000 บาท
     3.2 คดีความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 ที่มีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม   การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52  หรือมาตรา 53 หรือมาตรา 54 คดีหนึ่ง ไม่เกินส่วนละ 50,000 บาท
     3.3 คดีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดฐานค้ามนุษย์ที่มีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 หรือมาตรา 56 คดีหนึ่งไม่เกินส่วนละ 30,000 บาท
     3.4 ในกรณีที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้ประกันตัวไปในชั้นพนักงานสอบสวนชั้นพนักงานอัยการ หรือในชั้นศาล แล้วหลบหนีไป  ให้จ่ายเงินรางวัลและค่าตอบแทนแต่ละส่วนในอัตราไม่เกิน ร้อยละสามสิบของวงเงินประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้น
     3.5 การจ่ายเงินรางวัลและค่าตอบแทนตามประกาศ เรื่อง กำหนดวงเงินและรายการค่าใช้จ่ายเป็นเงินรางวัลและค่าตอบแทนในการนำจับและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์จากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ่ายจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
  
  การยื่นขอรับการสนับสนุนของกองทุน
 » ประเภทบุคคล ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์สามารถยื่นคำขอรับการช่วยเหลือตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้
    – ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
       อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ 3   อาคาร A ชั้น 7
    – ในเขตภูมิภาค ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนั้น ๆ
 » ประเภทโครงการ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนตามแบบเสนอโครงการ
     โดยกรณีหน่วยงาน/องค์กรเอกชน  ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนที่ประสงค์จะดำเนินโครงการ
    – ในเขตกรุงเทพฯ ยื่นที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
       อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ 3 อาคาร A ชั้น 6
    – ในส่วนภูมิภาค ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อพิจารณาในเบื้องต้น
       ก่อนนำส่งสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 » เงินรางวัลและค่าตอบแทนในการนำจับและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
     – ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
     – ในส่วนภูมิภาค ยื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
     – ข้าราชการทหาร ให้ยื่นต่อผู้บังคับการกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial